ระบบรถไฟฟ้า Monorail และการให้บริการ
ระบบรถไฟฟ้า Monorail
โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ให้บริการในระบบรถไฟฟ้า Monorail เป็นระบบรางเดียว วิ่งด้วย ความเร็วเฉลี่ย 35 กิโลเมตร/ชั่วโมง ความเร็วสูงสุด 80 กิโลเมตร/ชั่วโมง วิ่งบนรางความชันสูงสุดไม่เกิน 6% รัศมีเลี้ยวโค้ง 70 เมตร รองรับผู้โดยสารสูงสุดได้ประมาณ 28,000 คน/ทิศทาง อาศัยการเคลื่อนที่ของล้อยางคร่อมบนคานเดี่ยว ตัวรถมีขนาดกว้างกว่าตัวคาน
ข้อมูลทางเทคนิคของระบบ
มีระบบ 2 เพลาและระบบ 4 เพลา ขับเคลื่อนด้วยระบบไฟฟ้า 750V dc และ 1,500V dc จากรางไฟฟ้าทั้งสองข้าง จ่ายกระแสไฟฟ้าจากรางจ่ายไฟ (Power Rails)
โครงสร้างทางวิ่ง
โครงสร้างของระบบรถไฟฟ้า Monorail เป็นคานคอนกรีตรูปตัวไอ วางบนตอม่อ มีระยะห่างช่วงเสาประมาณ 20-30 เมตร โดยระยะห่างระหว่างศูนย์กลางทางวิ่งในทางตรงควรมีระยะ 3.70 เมตร ในขณะที่บริเวณทางโค้งระยะห่างของโครงสร้างควรเพิ่มตามรัศมีความโค้ง
ความจุของระบบ Monorail
ใช้ระบบรถไฟฟ้า Straddle Monorail ขนาดใหญ่ สามารถรองรับปริมาณผู้โดยสารได้มากกว่า 28,000 คน/ชั่วโมง/ทิศทาง
ความปลอดภัยของระบบ
Monorail มีระบบความปลอดภัยสูง เนื่องจากได้รับการออกแบบมาเพื่อให้ความเสี่ยงต่อการตกรางเกิดขึ้นได้น้อยที่สุด รวมถึงตัวรถมีทางวิ่งเฉพาะจึงไม่มีโอกาสชนกับระบบขนส่งรูปแบบอื่น และยังไม่มีรายงานการเกิดอุบัติเหตุในประเทศที่มีการเปิดให้บริการรถไฟฟ้า Monorail
ความปลอดภัยในกรณีฉุกเฉิน
1. ระบบป้องกันไฟ โครงสร้างรถไฟฟ้าผลิตจากวัสดุที่เป็นฉนวน ไม่ติดไฟ ในกรณีที่เกิดไฟไหม้จะหยุดอัตโนมัติที่สถานีปัจจุบัน
2. การอพยพผู้โดยสาร
2.1 ทางเดินฉุกเฉิน มีการติดตั้งไว้ด้านข้างระหว่างคาน เมื่อเกิดเหตุจึงสามารถอพยพผู้โดยสารไปยังสถานีที่ใกล้ที่สุดได้
2.2 การอพยพโดยรถไฟอพยพ ซึ่งรถไฟอพยพจะเข้ามาทางเดียวกันหรือทิศทางตรงข้ามกับรถไฟที่มีปัญหา
2.3 การอพยพลงสู่พื้นดิน อาจทำได้ด้วยการใช้รถยก เชือก เพื่ออพยพผู้โดยสารลงจากราง
การออกแบบสถานีและมาตรฐานการออกแบบ
1. แนวคิดการออกแบบสถานี
สถานีรถไฟฟ้าออกแบบให้สอดคล้องกับระบบการเดินรถไฟฟ้าและให้สามารถรองรับการเชื่อมต่อของระบบการขนส่งมวลชนที่มีอยู่ปัจจุบันและโครงการที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต เพื่อให้ผู้โดยสารเดินทางไปยังจุดหมายปลายทางได้สะดวก
2. รูปแบบสถาปัตยกรรมสถานี
1. การออกแบบสถานีและระดับอาคาร ออกแบบให้มีพื้นที่คลุมดินน้อยที่สุดเพื่อการระบายอากาศชั้นระดับพื้นดิน เนื่องจากสถานีต้องฟาดผ่านย่านที่พักอาศัย ส่วนใหญ่จัดวางบริเวณเกาะกลางถนนและจัดวางเป็น 2 ระดับและ 3 ระดับ
2. การสร้างเอกลักษณ์สถานี ออกแบบองค์ประกอบอาคารสถานีสื่อถึงสัญลักษณ์ของสถาปัตยกรรมไทย มีรูปแบบอ่อนช้อย สวยงามและทันสมัย
3. การจัดวางพื้นที่ใช้สอยภายในสถานีรถไฟฟ้า ออกแบบให้มีความสอดคล้องกับระบบเดินรถและระบบอาคารต่างๆ
3. แนวคิดการกำหนดตำแหน่งสถานี
ตำแหน่งสถานีมีระยะห่างโดยเฉลี่ยระหว่างสถานีประมาณ 1,200 เมตร เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณที่มีการปัญหาด้านการจราจรและย่านที่มีประชากรอาศัยอยู่หนาแน่น
รูปตัวอย่างสถานีรถไฟฟ้าภายหลังการก่อสร้างแล้วเสร็จ
การออกแบบเพื่อมวลชน
ทุกสถานีออกแบบการสร้างสถานที่และสิ่งของต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้บริการทุกประเภทสามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่และเท่าเทียมกัน
1. การจัดสิ่งอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้สูงอายุและผู้พิการ จัดให้ครบตามมาตรฐาน และกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับคนพิการ ดังนี้
1.1 ตู้โทรศัพท์สาธารณะสามารถปรับระดับความสูงได้
1.2 ตู้โทรศัพท์สาธารณะสำหรับผู้ใช้รถเข็น
1.3 ATM ที่ปรับระดับความสูงได้
1.4 ทางลาดสำหรับรถเข็นและผู้สูงอายุ
1.5 ห้องน้ำสำหรับผู้พิการ ผู้สูงอายุ และสตรีมีครรภ์
1.6 ทางเดินผิวสัมผัสสำหรับผู้พิการทางสายตา
1.7 ลิฟต์สำหรับผู้พิการ มีแผ่นพื้นนำทางสำหรับผู้พิการทางสายตาและมีปุ่มสวิตซ์พร้อมอักษรเบรลล์
1.8 บันไดขึ้น-ลงสถานีรถไฟฟ้า บริเวณราวจับมีอักษรเบรลล์สำหรับผู้พิการทางสายตา
1.9 ช่องทาง-ออกพื้นที่สถานี มีทางกว้าง 1 ช่องเพื่อผู้พิการหรือรถเข็นเด็ก
2.0 ที่นั่งในรถไฟฟ้า มีการแบ่งโซนสีเหลืองสำหรับ คนชรา สตรีมีครรภ์ และผู้พิการ
ศูนย์ซ่อมบำรุงอาคารจอดแล้วจร
ศูนย์ซ่อมบำรุงอาคารจอดแล้วจรของโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี มีจำนวน 1 แห่ง ตั้งอยู่บริเวณแยกร่มเกล้า เป็นศูนย์ซ่อมบำรุงหลักของโครงการประกอบด้วยอาคารจอดรถ 3 ชั้น จอดรถยนต์ได้ประมาณ 3,000 คัน (1,000 คัน/ชั้น) อาคารซ่อมบำรุงหลักและอาคารควบคุมการเดินรถสำหรับรองรับการซ่อมบำรุง 7 ช่องทาง